คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. จัดพิธีทำบุญให้แก่ร่างอุทิศ 1 ในนั้นคือ “พี่เตี้ย” ซึ่งกระดูกถูกจัดโชว์ให้ความรู้ในพิพิธภัณฑ์
จากเหตุการณ์ที่สะเทือนใจชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2563 พี่เตี้ย หมาสุดรักที่ชาว มช. ต่างรู้จักเป็นอย่างดี ต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
ล่าสุด เฟซบุ๊กแฟนเพจ พี่เตี้ย มช. ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า “ร่างอุทิศ ในวันนี้ 17 มีนาคม 2566 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ร่างอุทิศ (สัตว์ทดลอง) เพื่อรำลึกถึงร่างอุทิศที่ได้บริจาค เป็นวิทยาทาน แก่การศึกษาเล่าเรียนและงานวิจัยต่างๆ ของนักศึกษาและคณาจารย์ ประจำปี 2566
ในปีนี้เป็นการจัดงานทำบุญรวมจากหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด ซึ่งรวมถึงพี่เตี้ยสุนัขร้านขาย พลาสติกกันกระแทก แอร์บับเบิ้ล และน้องหมาใน มช. ที่บริจาคร่างไว้อีกหลายตัว รวมถึงจากผู้บริจาคหลายท่านที่ได้บริจาคร่างสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ในความดูแลของตนเองแก่ทางคณะสัตวแพทย์ไว้
ร่างของพี่เตี้ยนั้นถูกนำส่งชันสูตร ส่วนโครงกระดูกนั้น ได้รับเกียรติให้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กายวิภาคและพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2563
เนื่องในโอกาสนี้ จึงขอคัดลอกข้อความจากทีมงานจัดทำกระดูกมาให้ทุกท่านอ่านอีกครั้ง
“ด้วยตั้งใจจะให้กระดูกของพี่เตี้ยมีความสวยที่สุด ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ทีมงานที่จัดทำจึงต่อกระดูกทุกชิ้นของพี่เข้าด้วยกัน ด้วยเส้นเอ็น (โดยปกติตัวอื่นจะติดกาว) แม้แต่นิ้วเท้าที่ว่าพี่เตี้ยมี 20 นิ้วก็ทำจนครบ กระดูกหางก็ครบทุกชิ้น
กระดูกของพี่เตี้ยเป็นกระดูกสุนัขที่ต่อขึ้นมาสมบูรณ์และดีที่สุดในบรรดากระดูกสุนัขกว่าร้อยตัวที่ทีมงานทำมาตลอดเวลากว่ายี่สิบปี เพราะทีมงานรักพี่เตี้ย มช. ไม่ต่างกับคนส่วนมาก (หนึ่งในทีมงานรักมากถึงขนาดว่าลางานประจำเพื่อมาช่วยทำ)”
ขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติพี่เตี้ยมากขนาดนี้ ขอบคุณทีมงานจัดทำ ขอบคุณคณะสัตวแพทย์ที่มอบพื้นที่เล็ก ๆ ในพิพิธภัณฑ์ให้เป็นบ้านหลังใหม่ และหลังสุดท้าย ที่สวยที่สุด เราเชื่อว่าพี่น่าจะปลื้มใจในที่แห่งนี้ ที่ ๆ มีผู้คนแวะมาเยี่ยมเยียน และได้ความรู้กลับไป ทำให้เห็นว่า เรื่องราวของพี่สอนให้คนได้เรียนรู้ไม่ใช่แค่ตอนที่ยังอยู่ แม้จะจากไปพี่ก็ยังเป็นประโยชน์ไม่รู้จบ
นี่คือกระดูกของหมาขาสั้น ที่สร้างชื่อเสียงจากสี่ขาของตนเอง โครงกระดูกของหมาตัวหนึ่งที่ถูกทารุณกรรมจนต้องจากไป
แต่นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระดูกของหมาตัวหนึ่ง แต่คือการร้อยเรียงเรื่องราวความทรงจำมากมายต่อพี่เตี้ย มช. ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้แก่ประชาชน”